วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปุ่นเถ่ากง , ปุ่นเถ่าก้ง , ตั่วแปะกง , ตี่จูเอ่ย




ปุ่นเถ่ากง เป็นชื่อที่เรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ส่วนจีนกลางเรียกว่า เปิ่นโถวกง เป็นเทพเจ้าที่พบใน เมืองไทย ฟิลิปปินส์ และที่ ปีนัง เท่านั้น
เปิ่นโถวกง และ ต้าเป๋อกง เป็นเทพองค์เดียวกัน เป็นเทพที่นักเดินเรือ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) กราบไหว้กัน โดยมีชื่อเดิมว่า “โตวกง” แต่ที่ปีนังชาวพื้นเมืองเรียกเทพองค์นี้ว่า “เปิ่นโถวกง” ฟิลิปปินส์เรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถวกัง ชื่อดังกล่าวเป็นเพียงตำแหน่ง เทพผู้ดำรงตำแหน่งนี้ จะแตกต่างกันไปตามบุคคล เวลา และสถานที่ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ จะเป็นใครไม่อาจจะทราบได้ หรืออาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ ของบรรพบุรุษ ของชาวจีน โพ้นทะเลเท่านั้น ก็ได้ คำว่า เปิ่นโถว ซึ่งหมายถึง เปิ่นตี้ หรือที่ดั้งเดิม หรือ โถวมู่ ซึ่งแปลว่าหัวหน้าในสถานที่นั้น ๆ บางคนเรียกย่อ ๆ ว่า ตี้โถว ในสมัยก่อนเมื่อผู้เป็นใหญ่ในเขตนั้น ๆ หรือผู้นำในเขตอื่นๆ ได้ทำคุณประโยชน์ ให้แก่เขตปกครองมากมาย เมื่อตายไปแล้ว ก็ถูกยกย่องให้เป็นเทพ จึงเรียกว่าเปิ่นโถวกง ซึ่งหมายความว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งเขตนั้นๆ
หน้าที่รับผิดชอบ
คนที่มีที่ทางเยอะๆ จะมากราบไหว้เพื่อให้ท่านปกปักรักษาที่ดิน ดูแลที่ดิน หรืออาณาบริเวณ คอยปกป้อง คุ้มครองคนในบ้าน ให้ร่มเย็นเป็นสุขและปลอดภัย ในตลาดสดทั้งหลาย ส่วนมากจะตั้งเทพเปิ่นโถวกงไว ้เป็นเทพประธาน หากไม่ตั้งเปิ่นโถวกงไว้เป็นเทพประธานในศาล ก็ต้องตั้งเป็นเทพชั้นรอง เพื่อจะได้ช่วยปกป้อง ความร่มเย็น และการค้าเจริญรุ่งเรือง

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
คนจีนฮกเกี้ยนมักจะอัญเชิญท่านไว้ที่หิ้งเพื่อกราบไหว้ ส่วนคนจีนแต้จิ๋วจะนิยมอัญเชิญท่านไว้ที่หิ้งบนพื้น เพราะถือว่า ท่านเป็นเทพเจ้าที่ ในการบูชาเจ้าที่ของแต่ละบ้าน อาจมีรายละเอียดต่างกันนิดหน่อยแล้วแต่คนนิยม เช่น บางบ้านนิยมบูชาดอกไม้สด มาลัย บางบ้านต้องมีต้นกวนอิม ปักแจกันไว้ประจำ ที่กระถางธูปนิยมมีกิมฮวย (จินฮวา ) ประดับ แต่ในกระถางธูปบางบ้านนิยมใส่ทรายหรือข้าวสารที่กระถางธูป บางบ้านใส่เป็นโหงวเจ้งจี้ (อู่จ่งจือ ) หรือ เมล็ดทั้งห้า คือข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวเหนียวแดง เมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วแดง
นอกจากนี้ ก็อาจมีของบูชาที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ฟักทอง ฟักเงิน สับปะรด เงิน ทอง ฯลฯ แล้วก็มีของสดบูชา เช่น น้ำชา 5 ที่ เหล้าขาว 5 ที่ มะพร้าวอ่อน ส้ม บางบ้านไหว้ธูป 5 ดอก ลึกๆ แล้วการบูชาเจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้งห้า คือ ธาตุทอง ดิน ไม้ น้ำ ไฟ
ปางหรือลักษณะรูปเคารพ
รูปเคารพของเทพ ปุนเถ่ากง หรือ ปุนเถ่าม่า เทพองค์นี้มีลักษณะของรูปเคารพ ที่ไม่เหมือนกัน ในทุกศาลเจ้า เช่นมีทั้งที่แต่งกาย แบบขุนนางฝ่ายบุ๋น บ้างก็แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบู๊ มีหนวด มือขวาถือหลู่ยี่ มือซ้ายถือก้อนทอง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น